เรื่องเล่าจากสนามแข่ง
Start to Finish
วัดเขาโบสถ์ จ.ระยอง (6)
เนื่องจากวัดเขาโบสถ์ จังหวัดระยอง (สนามที่ 6 ) เป็นสนามสุดท้ายที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะคะแนนจะเพิ่มเป็นสองเท่า ถือว่าเป็นสนามขี่มันที่สุด มีเวลาเตรียมตัวและฝึกซ้อมนานที่สุดประมาณ 60 วัน จึงทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกซ้อมใหม่ในทุกๆเรื่อง(จุดอ่อน จุดแข็ง) เพื่อเตรียมพิชิตชัยให้ได้ ก่อนหน้าจะถึงวันแข่งขันจริงมีโอกาสไปทดสอบสนามที่วัดเขาโบสถ์มาแล้ว 2 ครั้ง ชอบมากเป็นสนามที่ขี่เหนื่อยมาก มันต้องใช้ความแข็งแรงและความเร็วตลอดเพื่อปั่นขึ้น – ลงในเส้นทางซิงเกิลแทรกป่ายาง สนามนี้จึงเป็นสนามที่จะวัดกันว่าใครคือ”แชมป์ถ้วยพระราชทานฯสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชที่แท้จริง ประจำปี 2555” ฉะนั้นการฝึกซ้อมจึงมุ่งสร้างสมรรถภาพสูงสุด(Peak performance ,Top From) เพื่อนำเอามาใช้แข่งขันในวันที่ 20 พ.ค.55 ที่วัดเขาโบสถ์ อำเภอเมืองจังหวัดระยอง
การวางแผนการฝึกซ้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวางแผนการาฝึกซ้อมให้สอดคล้องกับสภาพสนามแข่งขันให้มากที่สุด โดยผู้เขียนลงทุนเดินทางไปทำการสำรวจเส้นทางสนามและฝึกซ้อมสนามจริงที่วัดเขาโบสถ์ ได้พบกับ “ธงชัย เบียดนอก” แชมป์รุ่น 40 ปี ก็มาซุ่มซ้อมอยู่เหมือนกัน เส้นทางที่ผู้เขียนได้ไปขี่สำรวจ เริ่มจากขี่เลี้ยวขวาเข้าสวนยาง(เดิมทีต้องขี่ตรงขึ้นเขาทางลาดปูน) ลัดเลาะไปตามทางซิงเกิลแทรก เลี้ยวซ้าย –ขวาออกมานอกป่ายางบนถนนลูกรังอีก 50 เมตรก็เลี้ยวซ้ายเข้าสวนยางขี่ขึ้นทางลาดชันขึ้นไปเรื่อยๆจนเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาในทางซิงเกิลแทรก ซึ่งต้องปรับท่านั่งขี่ให้สมดุลเพราะเป็นทางขึ้นชันเป็นบางช่วงอีกทั้งมีเส้นทางที่ต้องขี่ผ่านมีรากต้นยางและแคบ(ทางเดินของคนกรีดยาง) ออกมาจาก
ป่ายางได้ก็ขี่ลงทางชันทางซ้ายมือก่อนที่จะต้องเปลี่ยนเกียร์ให้หนักขึ้นเพื่อขี่ขึ้นทางขวามือเข้าซิงเกิลแทรกทางซ้ายมือลงเนินรากไม้และเลี้ยวขวาขึ้นถนนเป็นเนินลาดปูนขึ้นชันประมาณ 300 – 400 เมตร ก็เลี้ยวขวาเข้าทางซิงเกิลแทรกลงเขา เลี้ยวซ้าย ขวา ขึ้นๆ ลงๆ (น่าสนุก)ไปตามป่ายาง ไฮไลท์อยู่ที่ช่วงขี่ลงเขาหักศอก ถ้าถ่ายน้ำหนักตัวไม่ดีจะทำให้การบังคับรถเลี้ยวลงไม่ได้(เลย) เป็นช่วงที่นักปั่นตัวเล็กจะได้เปรียบ ผู้เขียนขี่ลงมาได้รู้สึกตื่นเต้นดีเหมือนกัน อ้อตรงทางลงนี้จะเป็นรูปตัวS (ลง ขวา ซ้าย ขวา ซ้าย) เป็นทางดินเหนียวลืนๆ โชคดีที่มีแบงค์รองรับอยู่ตรงโค้งจึงทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่จากการสอบถามผู้ที่มาขี่ฝึกซ้อมที่นี่หลายคนบอกว่าเคยล้มตรงนี้มากันแล้วเกือบทุกคน ขี่ลงมาได้ก็ปล่อยรถBH Ultimate ไหลลื่นพริ้วไหวไปตามเส้นทางข้างในขึ้นๆลงๆ เลี้ยวไปมาตลอดเวลา ก็ต้องขอขอบคุณคนที่มาทำเส้นทางไว้ให้ได้ขี่กันเรียกว่าทักษะในการขี่เสือภูเขาทุกรูปแบบๆได้ใช้ตลอดเวลา เช่น การเปลี่ยนเกียร์หนักบ้าง เบาบ้าง รอบขาเร็วบ้าง ช้าบ้าง การนั่งอานไปข้างหน้าบ้าง กลางบ้างหรือมาด้านหลัง ต้องทำตลอดเวลาเพื่อรักษาสมดุลให้สอดคล้องกับเส้นทางที่ต้องขี่ผ่าน ขี่ออกจากเขามาได้ก็มีทางราบให้ได้หายใจหายคอให้สะดวก100- 200 เมตรก็ต้องเลี้ยวซ้าย – ขวา เข้าทางซิงเกิลแทรกอีกครั้งซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายซึ่งขี่มันมาก ก่อนที่จะโพล่ออกมาลงข้างทางตัดเส้นทางดาวฮิลล์เป็นสนามกว้างขี่เลาะมาจนถึงเส้นทางเริ่มต้น ระยะทางต่อหนึ่งรอบประมาณ 4.5 – 5 กิโลเมตร แต่เนื่องจากเส้นทางแข่งขันต้องใช้เทคนิคมากแต่ละคนจึงใช้เวลาขี่ต่อรอบค่อนข้างมากครับ ผู้เขียนขี่สองรอบก็เหนื่อยแย่แล้วรีบเก็บรถคู่กายเข้าท้ายเปอร์โยต์ขับรถไปจันทบุรีเพื่อเยี่ยมแม่ยายต่อเลย การสำรวจวันนี้ถือว่าประสอบความสำเร็จ ผมได้จดจำสภาพสนามแข่งที่ท้ายทายได้แล้ว มีเพียงแต่ว่าจะต้องวางแผนฝึกซ้อมอย่างไรเท่านั้นเพื่อพิชิตชัยชนะแชมป์ถ้วยพระราชทานฯให้ได้
ก่อนหน้าการแข่งขันเสือภูเขาชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสนามสุดท้ายที่(ส.6)จังหวัดระยองในวันที่ 20พ.ค.55ที่จังหวัดชลบุรีก็มีการจัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาประจำปีเมืองพัทยาในวันที่ 6 พ.ค. 55 จัดโดยชมรมจักรยานเมืองพัทยา นำทีมโดยคุณมาโนช หนองใหญ่ จึงเป็นโอกาสดีของผู้เขียนที่ได้ไปร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นการทดสอบ และ เชคความฟิตของตนเองว่า “ฟิต ฟิต พอหรือยัง” และ อีกอย่างหนึ่งสนามแข่งขันที่เมืองพัทยาก็อยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมืองชลบุรีเท่าไร(65 ก.ม.) เส้นทางการแข่งขันก็ขี่สนุกตื่นเต้นเร้าใจดีเป็นสนามที่อยู่บนเขาพระตำหนัก มีทั้งขี่ขึ้นเขา -ลงเขาบนเส้นทางซิงเกิลแทรก รากไม้ และอุปสรรค์อื่นมากพอสมควร เช่นขี่ขึ้นบันได ผู้เขียนเคยไปทดสอบสนามมาแล้วทำให้มีความมั่นใจว่าสนามนี้จะขี่ได้สนุกตื่นเต้นเร้าใจโดยเฉพาะตนเองดังที่ตั้งใจเอาไว้
วันแข่งขันที่พัทยามาถึงผู้เขียนพร้อมด้วยคุณระพีพรรณ รุ่งโรจน์ (ภรรยา) ก็เดินทางมายังสนามแข่งเขาพระตำหนักบริเวณศูนย์การท่องเที่ยวและเลยไปจอดรถที่บริเวณใกล้ๆเส้น “สตาร์ท” เท่าที่สังเกตดูมีนักกีฬาจักรยานมาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้มากมาย เส้นทางรอบละประมาณ 4.5 กิโลเมตร เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดแต่เส้นทางแข่งขันไม่ง่ายอย่างที่คิดทำให้เวลาที่ทำได้ต่อรอบค่อนข้างมาก ประเภทที่ผู้เขียนลงแข่ง 55-59 ปี
แข่ง 3 รอบ ก็หนักเอาการเหมือนกัน ถึงเวลาการแข่งขันนายกเมืองพัทยา “อิทธิพล คุณปลื้ม” มากล่าวรายงานต่อท่านประธาน “วีรยุทธ์ ดิษยศรินทร์”เปิดการแข่งขันกันไปเรียบร้อย ก็มีแข่งขันกันตามรุ่นและเวลา จนมาถึงรุ่นของผู้เขียน มีจำนวนนักแข่งในรุ่นพอสมควร(10 คน) เมื่อสิ้นเสียงการนับข้าพเจ้าถีบลงบันไดเจ้า BH Ultimate พุ่งทะยานออกนำหน้าทันทีติดตามด้วยคู่แข่งในรุ่นเดียวกันกันเป็นแถว เลี้ยวซ้ายขึ้นเนินยาวไปเรื่อยๆและเลี้ยวซ้ายอีกครั้งตอนนี้ต้องขี่ขึ้นเขาที่เป็นบันได(ขี่ยากเหมือนกัน) หลุดจากการขึ้นบันไดมาได้ก็เลี้ยวซ้ายขี่ลงเขาอันตรายเป็นทางซิงเกิลแทรกรากไม้ เต็มประมาณ200 เมตร ก็เลี้ยวขวาขี่ลงทางลาดยางไปผ่านสวนสุขภาพ ขึ้นเนินไปเรื่อยๆจนเลี้ยวขวาอีกครั้งเพื่อขึ้นสู่ยอดเขาด้วยการเลี้ยวซ้ายตัดขึ้นอ้อมเขาในลักษณะการขี่วนตามเข็มนาฬิกา ขี่ลงไปตามทางลูกรังอีกครั้ง ช่วงนี้ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะทางลงมีน้ำดักอยู่ข้างหน้า ขี่ขึ้นๆลงๆจนมาออกทางลาดยางอีกครั้ง คราวนี้ก็ต้องขี่ขึ้นเขาอีกครั้งก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายขี่ลงทางซิงเกิลแทรกเลี้ยวไปมา(น่าสนุก) ขี่โผล่อออกมาข้ามถนนและขี่ลงเนินยาวมาผ่านศูนย์การท่องเที่ยวเลี้ยวเข้าสวนสุขภาพอีกครั้ง(ขี่สวนทางกัน) เพี่อเลี้ยวขวาขี่ลงเขาทางซิงเกิลแทรกอีกช่วงหนึ่งเป็นเส้นทางสุดมันวกไปเวียนมาให้ได้ใช้แรงกันเต็มๆที่ ช่วงนี้ใครที่ซ้อมมาไม่ดีก็จะมีอาการแผ่วครับ อ้อ!!ลืมบอกไปว่าต้องใช้เทคนิคการใช้เกียร์ให้สัมพันธ์กันด้วยนะครับ ผู้เขียนถึงแม้จะปล่อยตัวออกมาที่หลังกลุ่มอายุ 50 -55 ปี ก็ตาม แต่ก็สามารถขี่ไล่ทันผู้แข่งขันกลุ่มดังกล่าวเกือบทุกคนจะขาดไปก็เฉพาะผู้ที่ได้ที่ 1 ในรุ่นเท่านั้น(นิทัศน์)
ขี่ขึ้นเนินอีกครั้งโผล่ออกมาจากป่าทางซิงเกิลมาได้ก็พบกับเส้นทางลาดยางขึ้นสู่ยอดเขาชมวิวซึ่ง ณ จุดนี้มีกองเชียร์ คนดูมากมายคอยให้กำลังใจกันอยู่ “อาจารย์ อาจารย์” สุดยอด ผู้เขียนได้กำลังใจจากผู้คนที่พาลูก พาเมีย หรือมาแข่งเองร้องเชียร์อยู่ข้างทาง ทำให้มีกำลังใจและ
มีแรงเพิ่มขึ้นมากมาย จึงยืนปั่นเร่งเจ้าเสือคู่ BH Ultimate ขึ้นเขามาอย่างลื่นไหล (ดูเหมือนรถมันเบาๆ) ขี่ผ่านผู้คนขึ้นมาจนถึงยอดเขาเลี้ยวซ้ายขี่ลงเขาทางซิงเกิลแทรกในป่าช่วงสุดท้าย ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายกลับเข้ามาผ่านเส้นเริ่มต้นอีกครั้ง (รอบที่ 1 ผ่านไป) เกมส์การแข่งขันยังไม่สิ้นสุด ผู้เขียนที่ขี่นำมายังไม่แน่ว่าจะชนะการแข่งขันในครั้งนี้ เพราะยังเหลือระยะทางอีก 2 รอบ อะไรมันจะเกิดก็ไม่รู้ แต่ผู้เขียนมีคติเตือนใจอยู่อย่างหนึ่งตลอดเวลาขณะทำการแข่งขันทุกๆสนามว่า “อย่าคิดว่าจะชนะเมื่อยังไม่ชนะ และอย่าคิดว่าจะแพ้เมื่อยังไม่แพ้” (เมื่อยังไม่ผ่านเส้นชัย) ผู้เขียนจึงใช้ความพยายามรักษาระยะห่างขี่นำหน้าหนีคู่แข่งขันไปให้ไกลออกไปข้างหน้ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และไม่เคยตั้งอยู่บนความประมาท แต่จะตั้งสมาธิให้นิ่งและมีความสุขอยู่กับการปั่นลูกบันไดรักษารอบขาให้มั่นคง (ปั่นไม่ตก) ทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันตลอดมา และที่สนามเมืองพัทยาครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้เขียนชนะเลิศเป็นอันดับที่ 1 อีกครั้ง ทำให้ผู้เขียนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสนามสุดท้าย (ส.6 )ที่วัดเขาโบสถ์จังหวัดระยองเป็นที่สุด
แม้จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันที่สนามเมืองพัทยามาก็ตาม แต่ยังมีจุดบกพร่อง(จุดอ่อน)ที่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อความสมบูรณ์แบบในการพัฒนาศักยภาพร่างกายขึ้นสู่จุด “พีค” (Peak performance)ซึ่งเป็นจุดที่ร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงสูงสุดนำเอาไปใช้แข่งขันได้มาจากการฝึกซ้อมที่เป็นระบบ เช่นรู้ว่าช่วงไหนต้องทำอะไร ฝึกอย่างไร แก้ไขจุดอ่อน เน้นจุดแข็งอย่างไร ฉะนั้นการฝึกซ้อมช่วงนี้จะเน้นหนักเหมือนการแข่งขันจริง(จำลองการแข่ง) โดยเฉพาะฝึกเน้นความเร็วมากกว่าความอดทน นอกจากนี้ยังต้องเน้นเรื่องของเทคนิคต่างๆ เช่น การออกตัว ขึ้นเขา ลงเขา ซิงเกิลแทรก ซึ่งเป็นเทคนิคที่สำคัญที่ใช้ในการแข่งขันเสือภูเขา ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการเรื่องอาหารและโภชนาการให้สอดคล้องกับรูปแบบการฝึก และการพักผ่อนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสมรรถภาพสูงสุดข้างต้น
สนามวัดเขาโบสถ์ ที่จังหวัดระยองไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่เป็นสนามที่ผู้เขียนชอบและถูกใจมากที่สุด ( ขอชมผู้ที่ออกแบบ และทำสนามแห่งนี้ว่าทำได้ดี ) ไปขี่มาแล้วติดใจ เหนื่อยสุดๆครับท่านผู้อ่านยังเหลือระยะเวลาฝึกซ้อมอีก 13 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ต้องทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมที่ต้องมุ่งมั่น มานะ อดทนและใช้ความพยายามมากที่สุด พยายามฝึกซ้อมให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ในแผนการฝึก และกลับมาทดสอบที่สนามวัดเขาโบสถ์อีกครั้งเพื่อตอกย้ำความมั่นใจ แม้จะมีฝนตกลงมาก็ตามก็สามารถขี่ได้ไม่เกร็ง(ความจริงผมชอบนะเวลาแข่งแล้วมีฝนตกน่ะ มันวัดกันที่เทคนิคทักษะว่าใครจะแน่กว่ากันในเรื่องความกล้า ไม่กล้า เสียว!!!ครับ) เสร็จจากการฝึกซ้อมวันนั้นก็รีบไปจองรีสอร์ท “เคียงดาว” ที่อยู่ไม่ไกลจากสนามแข่งขันมากนัก ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น ที่สำคัญราคาไม่แพง ทำให้หมดห่วงเรื่องที่พักในวันแข่งขันที่จะมาถึงอาทิตย์หน้า
ผู้เขียนเดินทางมาที่จังหวัดระยองในวันที่ 19 พ.ค. 55 เพื่อเตรียมแข่งขันในวันที่ 20 พ.ค. 55 ขณะขับรถมายังวัดเขาโบสถ์ได้ผ่านเส้นทางแข่งรถจักรยานประเภทถนนซึ่งกำลังแข่งขันกันอยู่ สังเกตเห็นว่าก่อนจะถึงวัดเขาโบสถ์ 1 – 2 กิโลเมตร มีจุดให้น้ำนักกีฬาที่พี่เลี้ยงเตรียมน้ำไว้สำหรับส่งให้นักกีฬาของตน ขับผ่านเส้นชัยบริเวณถนนข้างวัดมาได้ก็ตรงไปยังที่พัก “เคียงดาวรีสอร์ท” ทันทีจัดแจงเอาข้าวของที่เตรียมมาลงใส่ห้อง เสร็จแล้วก็แต่งตัวชุดซ้อมจักรยานขี่ออกไปสำรวจสนามแข่งขันอีกครั้งเพื่อความมั่นใจบนเส้นทางว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ ก็มีนักแข่งหลากหลายคนมาลองสนามเช่นกัน ผู้เขียนทดลองขี่ลงเขาช่วงที่ต้องเลี้ยวหักศอกโดยไม่แตะเบรกเกือบเอารถไม่อยู่โชคดีที่ไหวตัวทัน(แตะเบรกทัน)จึงรอดปลอดภัยมาได้ อย่างไรก็ตามผมบอกได้เลยว่า “สนามนี้เทคนิคการใช้เบรกเป็นเรื่องสำคัญมาก” ผู้เขียนขี่ 2 รอบก็มั่นใจว่า ทุกอย่าง OK ไม่ว่าจะเป็นระบบเกียร์ ลมยาง เบรก ใช้ได้ดี จึงขี่กลับมาพักผ่อนที่รีสอร์ทได้พบกับ “น้าออ๊ด” จากทีมตราดก็มาพักที่นี่ด้วยเช่นกัน รีสอร์ทแห่งนี้จึงเต็มด้วยนักกีฬาจักรยานครับ
อาหารเย็นมื้อนี้ คุณตู่ปรุง พาสต้าอย่างอร่อยๆ ให้ทานกับปลาทูน่าในน้ำเกลือ ใส่ซอสมะเขือเทศลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันเท่านี้ ผมก็มีความสุขกับอาหารเย็นแล้วครับ “คาร์โบไฮเดรต” จากพาสต้าทำให้ร่างกายผมปะจุพลังงานเต็มอัตรา(มาก – น้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของร่างกาย) และมั่นใจว่าวันรุ่งขึ้นผมจะปั่นแข่งขันได้ดีและประสบความสำเร็จสามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้ทุกๆคนในรุ่น อีกครั้ง ปกติผมจะเตรียมอาหารการกินมาเองทุกๆสนามที่ไปแข่งขัน อันประกอบไปด้วย น้ำดื่ม น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ผลไม้ต่างๆ พาสต้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการหุงต้ม เรียกว่าจัดเต็มมาเลย(เต็มรถยนต์) ครับ ฮ่า ฮ่า
เช้าวันแข่งขันมาถึงบริเวณวัดเขาโบสถ์คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์จอดกันเต็มไปหมดผู้เขียนก็เกือบจะหาที่จอดรถไม่ได้ ก่อนแข่งขันได้พบเพื่อนเก่าชาวต่างชาติ “มิสเตอร์ คริส” คู่แข่งคนหนึ่งในรุ่นพูดทักทายกันตามภาษา(อังกฤษ) เสร็จผู้เขียนก็แยกไปอบอุ่นร่างกายโดยการขี่ลูกกลิ้งอยู่ประมาณ 25 นาทีก็เปลี่ยนไปขี่บนถนนต่อได้พบกับนักแข่งมากมายกำลังอบอุ่นร่างกายกันอย่าง ขมักเขม่นบนถนนบริเวณวัดนั่นเอง การอบอุ่นร่างกายถือว่า”เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการแข่งขัน” คุณ ๆ จะสามารถระเบิดพลังปั่นได้รวดเร็วแค่ไหนก็ขึ้นอยู่ที่การอบอุ่นร่างกายนี้แหละครับ เหตุผลเพราะร่างกายของคนเรานั้นต่างกันโดยเฉพาะเส้นใยกล้ามเนื้อ บางคนมีกล้ามเนื้อแดงมาก(อดทนสูง)จะต้องอาศัยเวลาในการอบอุ่นร่างกายค่อนข้างนาน(ใช้เวลานานกว่า) ส่วนคนที่มีกล้ามเนื้อสีขาวมาก(รวดเร็วแต่ไม่ทน)จะอาศัยเวลาในการอบอุ่นร่างกายที่น้อยกว่าครับผมโชคดีที่ร่างกายมีกล้ามที่ว่าทั้งสองพอๆกันทำให้สามารถขี่ได้ดีทั้งด้านความอดทนและความเร็ว เรียกว่า “เร็วแบบอดทน” ซึ่งวันนี้จะต้องพิสูจน์ว่าใครคือ
“ว่าที่แชมป์ถ้วยพระราชทานที่แท้จริง” เมื่อเวลาแข่งขันมาถึงทางผู้จัด(สมาคมฯ)ก็ดำเนินการปล่อยตัวที่ละรุ่นไปเรื่อยๆ จนมาถึงรุ่นของผู้เขียน(50 ปีขึ้น) ซึ่งมีนักกีฬาเข้ารวมการแข่งขันประมาณ 10 คนเท่านั้น เสียงนับ 5-4-3-2- 1 เริ่มขึ้นสิ้นสุดเสียงหนึ่งก็ยกธงขึ้นข้าพเจ้าระเบิดพลังกดลูกบันได้ออกตัวไปอย่างรวดเร็ว สมยศ เร่งแซงผู้เขียนขึ้นมา ก่อนที่จะเลี้ยวขวาเข้าป่ายาง ด้วยความรีบร้อนหรือรนของเขาหรืออะไรก็ไม่ทราบได้ รถจักรยานสมยศแฉลบนิดหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนมีจังเร่งแซงขึ้นหน้าหนีเข้าป่ายางไปทันทีเป็นคนแรก ขี่จี้ตูดตามมาติดๆคือเสือนิทัศน์(อดีตเคยเรียนเทคนิคการขี่จักรยานเสือภูเขามากับผู้เขียน) ขณะนี้ฝีเท้าเขาพัฒนาขี่เก่งขึ้นมากเป็นแชมป์ในรุ่น 50 ปีที่สนามพัทยาที่ผ่านมา มาคราวนี้เขาเข้าร่วมวงไพบูลย์กับสนามแข่งของสมาคมฯด้วย เสียงลมหายใจของนิทัศน์ดังฟังชัด “ขาดแล้วๆอาจารย์” เขาร้องกระตุ้นผู้เขียน ขณะปั่นไล่กันมาสองคน ผู้เขียนขี่นำหน้าจนเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาป่ายางอีกครั้ง จึงชะลอวามเร็วให้ “นิทัศน์”แซงขึ้นหน้านำขี่ขึ้นเขา “ซิงเกิลแทรก” เนื่องจากรูปร่างของนิทัศน์ค่อนข้างเล็กจึงเป็นจุดได้เปรียบในการขี่ขึ้นทางชันๆ เขานำหน้าผู้เขียนห่างออกไปสักประมาณ 30-40 เมตร (ในป่า) พอออกมาจากป่าได้เลี้ยวขวาขึ้นเขาทางปูนสูงชัน ผู้เขียนเห็นนิทัศน์กำลังปั่นยิกๆขึ้นเขาอยู่ข้างหน้า จึงตัดสินใจยืนปั่นโยกเจ้า BH Ultimate ขึ้นเขาตามไปอย่างรวดเร็ว เสียงกองเชียร์จากผู้ชม “ว่าขี่ขึ้นเขาเหมือนอย่างทางเรียบเลยนะ” ด้วยความเร็วที่เหนือกว่าทำให้สามารถไล่ไปทันนิทัศน์ที่กลางเขานั่นเอง ขี่แซงขึ้นยอดเขาและเลี้ยวขวาลงทางซิงเกิลแทรกเป็นคนแรก แต่นิทัศน์ก็เหนียวแน่นไล่บี้มาไม่ห่าง ส่วนคู่แข่งคนสำคัญคือ “สมยศ” หลุดไปไกลไม่เห็นหลังกันแล้ว สถานการณ์แข่งขันในสนามขณะนี้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ลูกศิษย์กับอาจารย์” ในเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมา ขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้องใช้เทคนิคและแรงล้วนๆในการขี่ ช่วงหนึ่งของเส้นทางผู้เขียนชะลอความเร็วเปิดโอกาสให้นิทัศน์แซงขึ้นไปขี่นำหน้าบ้าง ดูท่าแล้วเขาจะชอบนำเพราะเขาเชื่อว่า “เขาได้เปรียบ” ขี่ลงเขาในป่าด้วยความคล่องแคล่วรวดเร็ว ข้าพเจ้าเว้นระยะห่างพอสมควรจากนิทัศน์ เฝ้าดูลีลาท่าทางอยู่ข้างหลัง ขี่กลับลงมาผ่านเส้นชัยอีกครั้งซึ่งเป็นจุดรับน้ำด้วย นิทัศน์รับน้ำเย็นได้แต่ผู้เขียนไม่ได้รับ ด้วยความสะใจนิทัศน์ยังคงขี่นำหน้าเข้าป่ายางขึ้นเขาไปเรื่อยโดยมีผู้เขียนเกาะติดเป็นแตงเมอยู่ข้างหลัง กองเชียร์ในป่ายางช่วงลงเขา “ซิงเกิลแทรกหักศอก”(Swing Back) จะอยู่บริเวณนั้นกันมากคอยดูเทคนิคการขี่ลงช่วงนี้ของยอดนักปั่นแต่ละคนจะขี่อย่างไร เสียง เฮ ! มีให้ได้ยินเป็นระยะๆ นิทัศน์ขี่ลงเขานำหน้าไปก่อนด้วยความปลอดภัย(ส่วนมากที่มีเสียงเฮเพราะมีคนขี่ล้มบริเวณจุดนี้มากที่สุด) ผู้เขียนก็ไม่น้อยหน้าคุณขี่ลงได้ผมก็ขี่ลงได้เช่นกัน นิทัศน์คงได้ใจที่สามารถทิ้งห่างผู้เขียนออกไปข้างหน้าได้ขณะขี่ลงเขาทำให้เขาขี่ลงเร็วยิ่งขึ้น โครม!!! อ้าว! นิทัศน์ล้มกลิ้งอยู่ข้างหน้า วินาทีนั้นข้าพเจ้าที่ขี่ไล่มาติดๆต้องหักหลบนิทัศน์ กะทันหันทำให้รถจักรยานเสียหลักล้มกลิ้งไปด้วยอีกคน แต่โชคดีที่ไม่ชนนิทัศน์ และก็ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ เสียงนิทัศน์ร้องบอกมาว่า “ขอโทษครับอาจารย์” ข้าพเจ้าจึงรองตอบไปว่า “ไม่เป็นไร” เราสอง
คนรีบขึ้นรถขี่ไล่กันไปต่ออีกครั้ง นิทัศน์ขี่นำหน้าจนมาผ่านเส้นชัยอีกครั้งซึ่งรอบต่อไปจะเป็นรอบสุดท้ายที่จะตัดสินกันว่าใครจะชนะ นิทัศน์ขี่นำเข้าป่ายางไปอย่างรวดเร็วติดตามด้วยผู้เขียนแบบหายใจรดต้นคอ คราวนี้กลยุทธ์ที่ผู้เขียนเตรียมเอาไว้พิชิตเสือ “นิทัศน์” ก็คือหนีขึ้นเขาในเส้นทางที่เขาคาดไม่ ถึง(ทางง่ายๆ) โดยผู้เขียนเร่งความเร็วส่งมาจากข้างหลังสวนขึ้นหน้าไปอย่างรวดเร็ว ชิงขี่เข้าทางซิงเกิลแทรกก่อนนำห่างเป็น”ศิลปินเดียว” อยู่ข้างหน้าได้ตามที่วางแผนเอาไว้ ช่วงนี้ผู้เขียนพยายามควบคุมระบบหายใจ และรอบขาให้อยู่ในการควบคุมตลอดเวลา พูดง่ายๆว่า ไม่ให้รอบขาตก เพื่อรักษาระยะห่างเอาไว้ ยิ่งขี่ยิ่งได้ใจ เรี่ยวแรงก็กลับพลันมีพลังขึ้นมาอีกครั้งแม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อยอย่างไรก็ตาม เส้นชัยอยู่ไม่ไกลเท่าไรแล้ว ผู้เขียนขี่ลงเขามาอย่างสบายใจเหลือระยะทางอีกไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็จะเข้าเส้นชัยแล้ว คุณระพีพรรณ (ภรรยา) ยืนเชียร์อยู่ ร้องบอกว่า“พ่อ พ่อ ระวังข้างหลังเขาขี่ไล่มาเร็ว ผู้เขียนตกใจหันไปดูอ้าว “เสือนิทัศน์” กำลังยืนโยกขี่ไล่มาอย่างรวดเร็วกระชั้นชิด ผู้เขียนตัดสินใจเร่งความเร็วขึ้นอีกครั้งแต่ดูเหมือนว่าจะช้าไปแล้ว “นิทัศน์” ขี่ไล่มาทันข้างหลังพอดี ผู้เขียนเร่งเข้าโค้งก่อนและฉีกแซงนักจักรยานข้างหน้าอีกหนึ่งคนที่กำลังจะเร่งสปริ้นท์เข้าเส้นชัย ทำให้นิทัศน์ไม่สามารถไล่แซงผู้เขียนได้ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังประมาณ 5-6 เมตร โอ! พระเจ้าข้าพเจ้าเกือบถูก “นิทัศน์”ตีหัวหน้าเส้นชัยเสียแล้ว เพราะคิดว่าชนะและทิ้งห่างเขามามากอีกอย่างหนึ่งขี่ประมาทคู่แข่งเกินไป จำไว้นะเพื่อนชาวเสือ “อย่าคิดว่าชนะเมื่อยังไม่ผ่านเส้นชัย” ฉะนั้นเมื่อใดที่มีโอกาสขี่ทิ้งคู่แข่งขันได้ต้องทิ้งให้ขาดลอยจะได้ไม่มาเสียวข้างหลังเหมือนผู้เขียนนะครับ. การแข่งขันจักรยานชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สนามสุดท้ายก็จบลงด้วยดี ชัยชนะตกเป็นของผู้เขียนอีกครั้ง ที่สองตกเป็นของนิทัศน์ และที่ 3 เป็นของสมยศ แชมป์เก่าเมื่อปีที่แล้ว
ปีใหม่แล้วผมขออวยพรให้พี่น้องชาวเสือทุกคน“คิดดี ทำดี ขี่รถจักรยานดีดี และมีสุขภาพดี” สวัสดีครับ
Share :